ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับตัวเรือด
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับตัวเรือด
หลังจากที่มีข่าวรายงานว่าพบตัวเรือด ซุกซ่อนอยู่ตามเบาะที่นั่ง ของขบวนรถไฟขบวนหนึ่งจนเป็นเหตุให้ผู้โดยสารโดนตัวเรือดกัด ทำให้บางคนไม่กล้านั่งบนเบาะต้องยืนตลอดทาง และบางคนก็ขอลงระหว่างทาง เราจึงจะพาไปรู้จักกับตัวเรือด ว่าคือตัวอะไร ตัวเรือดนั้นเป็นแมลงประเภทมวนชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในวงศ์ CIMICIDAE โดยเป็นแมลงที่จะดูดกินเลือดสัตว์และคนเป็นอาหาร และเป็นแมลงที่มีขนาดเล็ก ลำตัวกว้าง เป็นรูปไข่และแบน จะยาวประมาณ 3-5 มม. มีสีน้ำตาลแดง ชนิดที่พบในประเทศไทย คือ CIMEX SP.
หลังจากดูดกินเลือดแล้วสีลำตัวจะคล้ำลง ปากของตัวเรือด จะมีลักษณะโค้งงอ สามารถสอดเข้าไปในร่องด้านล่างของลำตัว แต่เมื่อต้องการดูดเลือด จึงจะยื่นส่วนปาก ออกมาแทงเข้าไปดูดเลือด ผู้ที่ถูกดูดกินเลือดจะรู้สึกเจ็บในบริเวณที่ถูกกัด โดยจะมองไม่เห็นตัวเรือด แต่จะทิ้งรอยผื่นแดงไว้บนผิวหนัง และต่อมาก็จะเกิดเป็นผื่นแพ้ เจ็บปวด อีกทั้งถ้าเกิดอาการคันและไปเกามากๆ จะยิ่งอักเสบ จนเกิดการติดเชื้อซ้ำ ทำให้รอยแผลหายยากขึ้น
ปกติแล้วตัวเรือดจะออกมาดูดกินเลือดในเวลากลางคืนโดยเฉพาะในที่มืด อย่างเวลาปิดไฟเข้านอนหรือในโรงภาพยนต์ที่ปิดไฟมืด ขณะที่ตอนกลางวัน ตัวเรือดจะหลบซ่อนตัวอยู่ ซึ่งตัว เรือดจะชอบหลบซ่อนตัว และอาศัยอยู่ตามที่นอน ซอกเตียง เก้าอี้ ตามรอยแตกของผนังห้อง เพดานห้อง พื้นห้อง และตามรอยแตกของอาคาร รวมทั้งตามอาคารที่สาธารณะต่างๆ เช่น โรงภาพยนตร์ โรงแรม โรงเรียน โดยเฉพาะสถานที่ ที่ค่อนข้างสกปรก และมีคนมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังสามารถเจริญเติบโต ได้ดีในที่ที่มีอากาศเย็น
โดยวิธีการป้องกันตัวเรือดนั้นต้องรักษาความสะอาดของสถานที่ หมั่นซ่อมแซมผนังห้อง พื้นห้อง และตัวอาคาร หากพบว่า มีรอยชำรุดเสียหาย เพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของตัวเรือด และถ้าพบรอยผื่นแพ้ จากการดูดกินเลือดให้รีบล้างแผล ให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ แล้วใช้ยาปฏิชีวนะหรือครีมทาบริเวณถูกพิษ แต่ถ้ามีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์ BEDBUG_ENTM_PURDUE3
แต่ถ้าพบตัวเรือดเข้ามารบกวนในบ้านของท่าน นั้น จำเป็นต้องใช้การฉีดพ่น ด้วยวัตถุมีพิษชนิดลินเดน มาลาไธออน รอนเนล หรือไพเรททรัม แต่บางครั้งพบว่า การใช้ลินเดนไม่ได้ผล เนื่องจากตัวเรือดมีความต้านทาน ดังนั้นอาจจะต้องฉีดพ่นทุกๆ 1-2 อาทิตย์ จนกระทั่งตัวเรือดหมดไป
การฉีดพ่นด้วยวัตถุมีพิษนี้จะต้องฉีดทุกส่วนของเตียงให้เปียกโดยเฉพาะรอยต่อ และรอยบุ๋ม แต่ต้องระวังอย่าให้ที่นอนเปียก และควรตากให้แห้งสนิทเสียก่อน ที่จะนำมาใช้อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นตามรอยแตก ที่ผนังหรือพื้นห้องก็ควรได้รับการฉีดพ่นเช่นเดียวกัน หรือถ้า ไม่อยากใช้ยาฉีดพ่น เพราะกลัวเป็นอันตรายต่อคน หรือสัตว์เลี้ยง ก็สามารถใช้ใบสนป่า หักเอามาเป็นกิ่งแล้ววางไว้ ในที่ๆ มีตัวเรือดก็ได้ เพียงแค่ 2-3 วันเท่านั้น ตัวเรือดก็จะหายไปหมด ดังนั้นถ้าหากพบเจอตัวเรือด ก็สามารถนำวิธีเหล่านี้ไปลองใช้ได้